การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

เมื่อบริษัทฯ ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินแล้ว บริษัทฯ จะติดต่อลูกหนี้ ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนำ และ
ผู้จำนองเพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานะความเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทฯ 

เมื่อบริษัทฯ ติดต่อลูกหนี้ได้แล้ว บริษัทฯ จะเสนอให้ลูกหนี้เข้าร่วมเจรจากับบริษัทฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนำ และผู้จำนองได้ บริษัทฯ จะดำเนินกระบวนการทางศาลกับลูกหนี้ดังกล่าวต่อไป โดยทั่วไป สำหรับลูกหนี้ที่ยังปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จ บริษัทฯ จะดำเนินการตามกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ไปพร้อมกับกระบวนการทางศาลเพื่อสร้างสภาพบังคับหลักประกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินงานให้ได้รับคืนหนี้โดยเร็ว

ในขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ จะประเมินทรัพย์หลักประกันและความสามารถของลูกหนี้ในการชำระหนี้ โดยบริษัทฯ จะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น เงินเดือน อาชีพ ประเภทธุรกิจ และการมีอยู่ของการค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าว นอกจากนั้น บริษัทฯ จะพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรวมถึง (ก) การตกลงชำระหนี้โดยมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ/หรือ
เงินต้น (ข) การโอนทรัพย์หลักประกันชำระหนี้ และ (ค) การแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งวิธีการที่บริษัทฯ จะเลือกใช้ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย

ในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ข้างต้น บริษัทฯ มุ่งเน้นการลดระยะเวลาในการได้รับกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เร็วที่สุด โดยบริษัทฯ พยายามบรรลุข้อตกลงกับลูกหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หากบริษัทฯ และลูกหนี้สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ จะเข้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ มูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ วิธีการชำระหนี้ และข้อตกลงเกี่ยวกับหลักประกันและการค้ำประกัน โดยสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติตามระเบียบภายในของบริษัทฯ ทั้งนี้ หากลูกหนี้ยังคงไม่สามารถชำระหนี้ได้แม้ว่าจะได้มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว บริษัทฯ อาจมีการเจรจากับลูกหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมในภายหลัง

Download คำขอปรับโครงสร้างหนี้